
ETF คืออะไร? ต่างจากหุ้นและกองทุนรวมอย่างไร?
ETF คืออะไร?
ETF ย่อมาจาก “Exchange Traded Fund” หรือกองทุนรวมที่สามารถซื้อขายได้ในตลาดหลักทรัพย์แบบเรียลไทม์ วิธีการทำงานคล้ายกับหุ้นทั่วไปและมีราคาขึ้นลงคล้ายกัน โดยจะแตกต่างจากกองทุนรวมแบบดั้งเดิมที่ต้องซื้อขายผ่านบริษัทหลักทรัพย์ที่จัดการกองทุนและใช้ราคาสิ้นวัน (NAV) ในการคำนวณมูลค่าของกองทุน
หากจะว่ากันง่ายๆ ความหมายของ ETF ก็คือกองทุนที่รวบรวมเงินจากนักลงทุนหลายรายเพื่อนำไปลงทุนในกลุ่มหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ เช่น ดัชนีหุ้น FTSE 100 ของอังกฤษ, ดัชนี S&P 500 ของอเมริกา, พันธบัตรรัฐบาล หรือทองคำ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับดัชนีหรือสินทรัพย์ที่ ETF นั้นๆอ้างอิงอยู่
ETF ทำงานอย่างไร?
บริษัทจัดการกองทุนจะนำเงินลงทุนไปกระจายซื้อหุ้นหรือสินทรัพย์ต่าง ๆ ตามดัชนีที่กองทุนนั้นอ้างอิง แล้วนำกองทุนนั้นไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จากนั้นนักลงทุนจึงสามารถซื้อหรือขาย ETF ได้ตลอดเวลาที่ตลาดหุ้นเปิด ส่วนราคาของกองทุนจะจะเปลี่ยนแปลงตามอุปสงค์และอุปทานในตลาดแบบเรียลไทม์เหมือนกับการซื้อขายหุ้นปกติ
ความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างหุ้น ETF และกองทุนรวม
- หุ้น คือการลงทุนในกิจการใดกิจการหนึ่งโดยตรง เช่น หากคุณซื้อหุ้นของบริษัท A คุณจะกลายเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทนั้น และผลตอบแทนที่ได้จะขึ้นอยู่กับผลประกอบการของบริษัทเพียงแห่งเดียว ความเสี่ยงจึงอยู่ที่ตัวบริษัทโดยตรง หากกิจการเติบโตดี ราคาหุ้นก็อาจเพิ่มขึ้น แต่หากธุรกิจมีปัญหา นักลงทุนก็อาจขาดทุนอย่างรวดเร็ว เพราะความเสี่ยงถูกกระจุกไว้ในจุดเดียว
- ETF เป็นการลงทุนในหลักทรัพย์หลายตัวพร้อมกันในกองทุนเดียว เช่น ETF ที่อิงกับดัชนีหุ้น S&P 500 จะกระจายเงินลงทุนไปยัง 500 บริษัทที่อยู่ในดัชนีนี้ตามสัดส่วน ทำให้ความเสี่ยงถูกกระจายออกไปหลายบริษัท และลดโอกาสที่จะขาดทุนหนักจากบริษัทใดบริษัทหนึ่งโดยเฉพาะ นอกจากนี้ ETF ยังสามารถซื้อขายได้เหมือนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ นักลงทุนจึงสามารถซื้อขายได้ทันที
- กองทุนรวมทั่วไป เป็นการลงทุนที่ต้องซื้อผ่านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) และมักมีรอบการซื้อขายเพียงวันละ 1 ครั้ง โดยจะใช้ราคาสิ้นวัน (NAV) ในการคำนวณมูลค่าหน่วยลงทุน นักลงทุนจึงไม่สามารถซื้อขายในระหว่างวันได้เหมือนหุ้นหรือ ETF นอกจากนี้ยังอาจมีค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม เช่น ค่าธรรมเนียมแรกเข้า (front-end fee) หรือค่าธรรมเนียมการขาย (back-end fee)
สรุปแล้ว ETF เปรียบเสมือนส่วนผสม ระหว่างหุ้นและกองทุนรวม เพราะซื้อขายได้อย่างยืดหยุ่นในตลาดเหมือนหุ้น แต่มีโครงสร้างการลงทุนที่กระจายความเสี่ยงแบบกองทุนรวม จึงกลายเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ต้องการเข้าถึงการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส รวดเร็ว และควบคุมต้นทุนได้ดีกว่าแบบดั้งเดิม
ข้อดีและข้อเสีย ของ ETF
ข้อดี
-
ซื้อขายง่ายและรวดเร็วเหมือนหุ้น
-
ค่าธรรมเนียมบริหารจัดการต่ำ
-
กระจายความเสี่ยงได้ทันทีจากการซื้อขายแบบเรียลไทม์
-
โปร่งใส และตรวจสอบพอร์ตการลงทุนได้ง่าย
-
เหมาะกับการลงทุนระยะยาวและการลงทุนแบบ DCA
ข้อเสีย
-
บางกองทุนมีสภาพคล่องต่ำ หากกองทุนนั้นไม่มีปริมาณการซื้อขายที่สูง
-
ราคาซื้อขายอาจต่างจากมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ(NAV) หากตลาดผันผวน
-
ต้องมีบัญชีซื้อขายหุ้นที่เปิดกับโบรกเกอร์ และอาจมีค่าคอมมิชชั่น
-
ไม่สามารถกำหนดมูลค่าการซื้อขายเป็นจำนวนเงินแน่นอนได้ เนื่องจากต้องซื้อเป็นจำนวนหน่วยลงทุน
สรุปวิธีลงทุนใน ETF แบบเข้าใจง่าย
- เปิดบัญชีซื้อขายหุ้น (Brokerage Account)
เลือกแพลตฟอร์มที่น่าเชื่อถือซึ่งสามารถซื้อขาย ETF ได้ - กำหนดเป้าหมายการลงทุน
วางแผนว่าคุณต้องการลงทุนเพื่อเติบโต รับรายได้ประจำ หรือกระจายความเสี่ยง - ศึกษาข้อมูลและเลือก ETF
ดูว่ากองทุนลงทุนในอะไร มีค่าธรรมเนียมเท่าไร และติดตามดัชนีได้แม่นแค่ไหน - เลือก ETF ที่เหมาะสม
เลือกกองทุนที่ตรงกับเป้าหมาย เช่น S&P 500 พันธบัตร เทคโนโลยี หรือทองคำ - กำหนดงบลงทุน
เลือกว่าจะลงทุนก้อนเดียว หรือทยอยลงทุนแบบ DCA - ส่งคำสั่งซื้อ
ซื้อ ETF ผ่านบัญชีนายหน้าโดยเลือกคำสั่งแบบ Market หรือ Limit - ติดตามและปรับพอร์ต
ตรวจสอบผลการลงทุน และปรับพอร์ตให้สอดคล้องกับเป้าหมายเมื่อจำเป็น
การลงทุนใน ETF ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอีกต่อไป IUX มอบประสบการณ์การลงทุนที่เข้าถึงง่าย โปร่งใส และเหมาะกับทุกเป้าหมายทางการเงิน ไม่ว่าคุณจะเน้นการเติบโตในระยะยาวหรือสร้างรายได้ที่มั่นคง เปิดบัญชีกับ IUX วันนี้ แล้วเริ่มต้นก้าวแรกสู่การลงทุน ETF ที่มั่นใจได้ทันที!
ความเสี่ยงและผลตอบแทนของการลงทุนใน ETF
แม้การลงทุนใน ETF จะเป็นการกระจายความเสี่ยงในตัวของมันเองอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีความเสี่ยงเฉพาะตามลักษณะของสินทรัพย์ที่กองทุนนั้นเลือกลงทุน เช่น
-
ETF หุ้น มีศักยภาพในการสร้างผลตอบแทนสูงในระยะยาวจากการเติบโตของหลายบริษัทในดัชนีที่อ้างอิง แต่ก็ต้องแลกมากับความผันผวนของตลาดที่อาจเกิดขึ้นในช่วงสั้น
-
ETF ตราสารหนี้ มีความผันผวนน้อยกว่า เหมาะกับผู้ที่ต้องการความมั่นคงมากขึ้น แต่ผลตอบแทนก็อาจน้อยกว่าการลงทุนในหุ้น
-
ETF สินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทองคำ น้ำมัน หรือโลหะอื่น ๆ ผลตอบแทนขึ้นอยู่กับราคาตลาดโลก ซึ่งมีแนวโน้มผันผวนจากปัจจัยเศรษฐกิจ ภูมิรัฐศาสตร์ และค่าเงิน
นอกจากความเสี่ยงจากตัวสินทรัพย์แล้ว ETF ยังมีความเสี่ยงเฉพาะทางที่นักลงทุนควรเข้าใจเพิ่มเติม เช่น
-
ความคลาดเคลื่อนจากดัชนีที่อ้างอิง (Tracking Error) ทำให้ผลตอบแทนอาจไม่สอดคล้องกับดัชนีเป้าหมาย
-
ความเสี่ยงจากการบริหารจัดการของบลจ. โดยเฉพาะในกรณีที่มีการจัดพอร์ตไม่เหมาะสมหรือขาดประสิทธิภาพ
-
ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง หาก ETF ที่เลือกมีปริมาณการซื้อขายน้อย อาจส่งผลให้เกิดส่วนต่างราคาซื้อ-ขาย (bid-ask spread) สูง หรือขายคืนได้ยากในช่วงเวลาสำคัญ
ETF เป็นเครื่องมือที่ช่วยกระจายความเสี่ยงได้ดี แต่ไม่ได้หมายความว่าจะปลอดภัยหรือได้ผลตอบแทนแน่นอน ความเข้าใจในสินทรัพย์อ้างอิง และการเลือก ETF ที่มีคุณภาพ สภาพคล่องดี และมีการบริหารจัดการโปร่งใส จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการลงทุน
หมายเหตุ: บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลสำหรับการศึกษาในเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน